วันเสาร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2556

คำสอนที่สำคัญ "ครูบาศรีวิชัย 2482"


คำสอนที่สำคัญ

ครูบาศรีวิชัย 2482 


ครูบาศรีวิชัยมีความปรารถนาที่จะบรรลุธรรมะอันสูงสุดดังปรากฏจากคำอธิษฐานบารมีที่ท่านอธิษฐานไว้ว่า "...ตั้งปรารถนาขอหื้อได้ถึงธรรมะ ยึดเหนี่ยวเอาพระนิพพานสิ่งเดียว..." และมักจะปรากฏความปรารถนาดังกล่าว ในตอนท้ายของคัมภีร์ใบลานที่ท่านสร้างไว้ทุกเรื่อง

อีกประการหนึ่งที่ทำให้ครูบาศรีวิชัยเป็นที่รู้จักและอยู่ในความทรงจำของชาวล้านนา คือการที่ท่านเป็นผู้นำในการสร้างทางขึ้นสู่ วัดพระธาตุดอยสุเทพโดยพลังศรัทธาประชาชนเป็นจำนวนมาก ทั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์ ซึ่งใช้เวลาสร้างเพียง 5 เดือนเศษ โดยไม่ใช้งบประมาณของรัฐ

การเปลี่ยนแปลงการปกครองคณะสงฆ์ในล้านนา

ในช่วงนั้น เชียงใหม่ถูกลดบทบาทลงเป็นเพียงศูนย์กลางของมณฑลพายัพ ถึงแม้ทางส่วนกลางจะพยายามรวมทุกแว่นแคว้นเข้าเป็นไทยเดียวกัน แต่ล้านนายังคงเอกลักษณ์ทางด้านชีวิตความเป็นอยู่ไว้อย่างเหนียวแน่น ต่างจากภาคอื่น ๆ ที่ถูกกลืนเข้าอยู่ภายใต้นโยบายการปกครองของส่วนกลาง ส่วนกลาง (สยาม) พยายามจะลดบทบาทของล้านนาลงในทุกวิถีทาง เช่น ทางด้านการปกครอง ก็ส่งข้าหลวงจากส่วนกลางมาประจำมณฑลพายัพ ส่วนทางด้านศาสนา สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้เป็นผู้ดำเนินการจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ทั่วราชอาณาจักร

แต่ในขณะนั้นรูปแบบการปกครองสงฆ์ในล้านนาได้มีรูปแบบเฉพาะของตน โดยผ่านความคิดระบบครูกับอาจารย์ นอกจากนี้นิกายต่าง ๆ นั้น ยังเกี่ยวข้องกับเชื้อชาติอีกด้วย เช่น นิกายเชียงใหม่ นิกายขืน นิกายยอง อีกด้วย เป็นต้น

ทำดีไม่ได้ดี

แต่เรื่องที่ทำให้ครูบาศรีวิชัยเป็นที่รู้จักกันในระยะแรกนั้น เกิดเนื่องจากการที่ท่านต้องอธิกรณ์ (ถูกจับกุม) ซึ่งระเบียบการปกครองสงฆ์ตามจารีตเดิมของล้านนานั้นให้ความสำคัญแก่ระบบหมวดอุโบสถ หรือ ระบบหัวหมวดวัด มากกว่า และการปกครองก็เป็นไปในระบบพระอุปัชฌาย์อาจารย์กับศิษย์ ซึ่งพระอุปัชฌาย์รูปหนึ่งจะมีวัดขึ้นอยู่ในการดูแลจำนวนหนึ่งเรียกว่าเจ้าหมวดอุโบสถ โดยคัดเลือกจากพระที่มีผู้เคารพนับถือและได้รับการยกย่องว่าเป็น ครูบา ซึ่งหมายถึงพระภิกษุที่ได้รับความยกย่องอย่างสูง ดังนั้นครูบาศรีวิชัยซึ่งมีชื่อเสียงอยู่ในขณะนั้นจึงอยู่ในตำแหน่งหัวหมวดพระอุปัชฌาย์ โดยฐานะเช่นนี้ ครูบาศรีวิชัยจึงมีสิทธิ์ตามจารีตท้องถิ่นที่จะบวชกุลบุตรได้ ทำให้ครูบาศรีวิชัยจึงมีลูกศิษย์จำนวนมาก และลูกศิษย์เหล่านี้ก็ได้เป็นฐานกำลังที่สำคัญของครูบาศรีวิชัยในการดำเนินกิจกรรมทางศาสนาและกิจกรรมสาธารณประโยชน์ อีกทั้งยังเป็นแนวร่วมในการต่อต้านอำนาจจากกรุงเทพฯ เมื่อเกิดกรณีขัดแย้งขึ้นในเวลาต่อมา

การที่ครูบาศรีวิชัยถือว่าท่านมีสิทธิ์ที่จะบวชกุลบุตรได้ตามจารีตการถือปฏิบัติมาแต่เดิมนั้น ทำให้ขัดกับพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 (พ.ศ. 2446) เพราะในพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดว่า พระอุปัชฌาย์ที่จะบวชกุลบุตรได้ ต้องได้รับการแต่งตั้งตามระเบียบการปกครองของสงฆ์จากส่วนกลางเท่านั้น โดยถือเป็นหน้าที่ของเจ้าคณะแขวงนั้น ๆ เป็นผู้คัดเลือกผู้ที่ควรจะเป็นอุปัชฌาย์ได้ และเมื่อคัดเลือกได้แล้วจึงจะนำชื่อเสนอเจ้าคณะผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯ เพื่อดำเนินการแต่งตั้งต่อไป การจัดระเบียบการปกครองใหม่ของกรุงเทพฯ นี้ ถือเป็นวิธีการสลายจารีตเดิมของสงฆ์ในล้านนา องค์กรสงฆ์ล้านนาก็เริ่มสลายตัวลงทีละน้อยเพราะอย่างน้อยความขัดแย้งต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นระหว่างสงฆ์ในล้านนาด้วยกันเอง ดังกรณี ความขัดแย้งระหว่างครูบาศรีวิชัยกับพระครูมหารัตนากรเจ้าคณะแขวงลี้ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เป็นต้น

การต้องอธิกรณ์ระยะแรกของครูบาศรีวิชัยนั้นเกิดขึ้นเพราะครูบาศรีวิชัยถือธรรมเนียมปฏิบัติตามจารีตเดิมของล้านนา ส่วนเจ้าคณะแขวงลี้ซึ่งใช้ระเบียบวิธีปฏิบัติของกรุงเทพฯ ซึ่งเห็นว่าครูบาศรีวิชัยทำหน้าที่พระอุปัชฌาย์โดยไม่ได้รับการอนุญาตจากเจ้าคณะแขวงลี้ จึงถือว่าเป็นความผิด เพราะตั้งตนเป็นพระอุปัชฌาย์เองและเป็นพระอุปัชฌาย์เถื่อน ครูบามหารัตนากรเจ้าคณะแขวงลี้กับหนานบุญเติง นายอำเภอลี้ได้เรียกครูบาศรีวิชัยไปสอบสวนเกี่ยวกับปัญหาที่ครูบาศรีวิชัยเป็นพระอุปัชฌาย์บวชกุลบุตรโดยมิได้รับแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติ การจับกุมครูบาศรีวิชัยสามารถแบ่งช่วงเวลาออกเป็น 3 ช่วงเนื่องจากเป็นระยะเวลาที่ยาวนานเกือบ 30 ปีและแต่ละช่วงจะมีรายละเอียดของสภาพสังคมที่แตกต่างกัน

จะเห็นได้ว่า การที่ครูบาศรีวิชัยถูกจับกุมเนื่องจากความกระด้างกระเดื่อง ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าคณะแขวง ตลอดจนไม่สนใจพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ฉบับใหม่ อาจเนื่องด้วยครูบาเจ้าศรีวิชัยมุ่งเน้นการปฏิบัติธรรม มากกว่าที่จะสนใจในระเบียบแบบแผนใหม่ อีกทั้งท่านยังยึดมั่นกับจารีตแบบแผนแบบดั้งเดิม โดยปฏิบัติตามวินัยสงฆ์ที่อาจารย์พระอุปัชฌาย์สั่งสอนมา ความสัมพันธ์แบบหัวหมวดวัด ได้สร้างความผูกพันระหว่างพระในชุมชนด้วยกันที่ให้ความเชื่อถือในอาจารย์หรือพระอุปัชฌาย์ที่ถูกแต่งตั้งจากส่วนกลาง เป็นจุดเริ่มต้นของการยืนหยัดที่จะสืบสานจารีตแห่งความเป็นล้านนา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น